สื่อสารองค์กร

สถานีรถไฟเวียงจันทน์บ้านคำสะหวาด เชื่อมโยงด้านระบบรางในภูมิภาค
โดย: JETPACK -
  • 370 เข้าชม
  • 9 มิถุนายน 2566

          นครหลวงเวียงจันทน์ในเวลานี้ กลายเป็นเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ ซึ่งในเมืองเวียงจันทน์คึกคักด้วยผู้คน ส่วนนอกเมืองรถบรรทุกสินค้าก็เข้ามาหนาตากว่าที่เคย เพราะเวียงจันทน์กลายเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญในการขนส่ง ทั้งการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศและการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างอาเซียนและจีน

          สถานีรถไฟเวียงจันทน์บ้านคำสะหวาด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างทางรถไฟไทย-ลาว ระยะที่ 2 (สายท่านาแล้งเวียงจันทน์) ส่วนที่ 2 สถานีรถไฟนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA ถูกออกแบบเพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้าด้วยระบบรางขนาด 1 เมตร โดยสถานีรถไฟเวียงจันทน์บ้านคำสะหวาด ซึ่งเป็นสถานีรถไฟแห่งที่ 2 ในเส้นทางโครงข่ายทางรถไฟไทย-ลาว ตั้งอยู่ที่บ้านคำสะหวาด เมืองไซเสดถา ห่างขึ้นไปทางทิศเหนืออยู่ห่างจากท่าบกท่านาแล้งเพียง 7.5 กิโลเมตร และเชื่อมโยงถึงกันด้วยรางรถไฟขนาด 1 เมตร ที่มาจากจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นสถานีรถไฟขนาด 2 ชั้น 2 ชานชาลา โดยชั้น 1 มีพื้นที่ 6,300 ตารางเมตร และชั้น 2 มีพื้นที่ 3,600 ตารางเมตร มีพื้นที่ชานชาลาอีก 3,600 ตารางเมตร ขนาดรางกว้าง 1 เมตร ได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ และพร้อมจะเปิดให้บริการ โดยการก่อสร้างสถานีรถไฟเวียงจันทน์บ้านคำสะหวาด เริ่มต้นเมื่อปี 2562 ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 994.68 ล้านบาท และคาดว่าพิธีเปิดสถานีรถไฟเวียงจันทน์บ้านคำสะหวาด จะจัดขึ้นในช่วงการประชุมความร่วมมือ “อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง” หรือ ACMECS ครั้งที่ 10 ซึ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จะได้เป็นเจ้าภาพในปีนี้