สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ได้จัดงานแถลงข่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีแห่งการสถาปนา สพพ. “สองทศวรรษแห่งความร่วมมือ สู่อนาคตที่ยั่งยืน” นำโดยนายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการ พร้อมด้วยรองผู้อำนวยการ (พันเอก ศรัณยู วิริยเวชกุล และนายกีรติ เวฬุวัน) ซึ่งผู้อำนวยการ สพพ. ได้กล่าวเปิดงานแถลงข่าว โดยเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของ สพพ. ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านแนวคิด “พลังร่วม (Synergy)” และการยกระดับความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ซึ่งตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา สพพ. ได้ให้โครงการความร่วมมือทางการเงินและทางวิชาการ จำนวน 55 โครงการ รวม 24,189.43 ล้านบาท และโครงการด้านความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน (Capacity Building) จำนวน 48 โครงการ รวม 36.90 ล้านบาท และกำลังก้าวสู่ทิศทางใหม่ที่เน้นการสร้างมูลค่าข้ามพรมแดน (Cross-Border Value Creation) ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ของ สพพ.
พร้อมกันนี้ ยังได้แสดงศักยภาพโครงการสำคัญในประเทศเพื่อนบ้าน แบ่งออกเป็น 4 ประเทศเป้าหมายหลัก ได้แก่ ประเทศกัมพูชา: มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (On-going Projects) ได้แก่ โครงการปรับปรุงถนนสาย NR67 และ NR68 รวมถึงโครงการใหม่ (New Projects) ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น โครงการพัฒนาด่านสตึงบทแห่งที่ 2, โครงการปรับปรุงถนนสาย NR57 และโครงการ Livable, Resilient and Water Secure Cities Investment Program (Tranche 2) ทั้งนี้ ภายใน สปป.ลาว ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 และโครงการปรับปรุงทางหลวงสาย R12 พร้อมด้วยโครงการใหม่ ได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพานเชียงแมน-หลวงพระบาง และโครงการพัฒนาระบบประปาแห่งที่ 2 สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินงานในประเทศเมียนมาและติมอร์-เลสเต เช่น โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในนครย่างกุ้ง เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และโครงการปรับปรุงศูนย์อนามัยแม่และเด็ก BEmONC โดยความร่วมมือกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐานของประชาชน
สุดท้ายนี้ ผู้อำนวยการ (นายพีรเมศร์ฯ) ยังได้ฝากถึงแนวทางความร่วมมือทางการเงินในอนาคต สำหรับการระดมทุนด้วยพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2568 เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการสนับสนุนโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ทางสังคม รวมถึงความร่วมมือทางการเงินผ่านสกุลเงินหลัก (Major Currency) เช่น สกุลเงิน USD และ EURO เพื่อรองรับการดำเนินโครงการในประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย (non-bordering countries), การวางกรอบ Climate Resilient Projects และการผลักดันการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน Public-Private Partnership (PPP) และ Blended Finance เพื่อให้สอดคล้องกับความพร้อมของแต่ละโครงการในปัจจุบัน และดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐมากขึ้น ณ ร้านอาหารพริกหยวก ถนนประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568