สื่อสารองค์กร

องค์ความรู้
ยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านของ สศช.
โดย: ธนะ มงคลโภชน์
  • 2599 เข้าชม
  • 11 มกราคม 2561
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคมและสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และความสมานฉันท์ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในภูมิภาค

แบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 3 ระดับ คือ
                  (1) ยุทธศาสตร์ระดับนโยบาย ได้แก่ การสร้างพันธกิจร่วมกัน การสร้างภาพลักษณ์ต่อประเทศเป้าหมาย การสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและสังคม การแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น ระบบโลจิสติกส์ร่วม การเชื่อมโยงทางสังคม วัฒนธรรม และขจัดเงื่อนไขของการก่อปัญหาด้านความมั่นคง การเสริมบทบาทภาคเอกชนและความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน และแสวงหาความร่วมมือจากประเทศที่สามและองค์กรการพัฒนาระหว่างประเทศที่มีศักยภาพ
                  (2) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือรายสาขา 12 สาขา ได้แก่ ด้านคมนาคมขนส่ง ด้านโทรคมนาคม ด้านพลังงาน ด้านการค้าการลงทุน ด้านอุตสาหกรรม ด้านท่องเที่ยว ด้านเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านสาธารณสุข ด้านการป้องกันภัยพิบัติ การสร้างระบบ เตือนภัยและเฝ้าระวัง และด้านการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ
                  (3) ยุทธศาสตร์สนับสนุนการขับเคลื่อน ได้แก่ การสร้างเอกภาพภายในของไทยในการดำเนินยุทธศาสตร์ การบูรณาการยุทธศาสตร์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาระบบการประเมินความสำเร็จ และการสร้างความเข้มแข็งของกลไกการดำเนินงาน คือ คณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (กพบ.) สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) 
 
               จุดเน้นของยุทธศาสตร์ความร่วมมือ การพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับอนุภูมิภาคในระยะต่อไปควรเพิ่มจุดมุ่งหมายในการสร้างความเชื่อมโยงกับภาคีการพัฒนาในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน การมุ่งเน้นการสร้างความเชื่อมโยงทางด้านสังคมและวัฒนธรรม การให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการและเทคนิค การเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา และมุ่งเน้นความร่วมมือในการส่งเสริมและดึงดูดการค้าและการลงทุนในอนุภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างแท้จริง