สื่อสารองค์กร

ข่าวประชาสัมพันธ์
สพพ. ลงนามความร่วมมือกับกัมพูชายกระดับถนนหมายเลข 67 ช่วงเสียมราฐ-อันลองเวง-จวม/สะงำ ราชอาณาจักรกัมพูชา
โดย: รัฐฐา ธนันท์พรพงษ์
  • 668 เข้าชม
  • 10 พฤศจิกายน 2565
นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และ H.E. Vongsey Vissoth, Minister attached to the Prime Minister & Permanent Secretary of State, Ministry of Economy and Finance (MEF) ร่วมลงนามความร่วมมือในสัญญาเงินกู้โครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 67 ช่วงเสียมราฐ-อันลองเวง-จวม/สะงำ ราชอาณาจักรกัมพูชา (โครงการ NR67) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ณ MEF กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการขยายตัวด้านการค้าชายแดน การขนส่งสินค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวทั้งในไทยและกัมพูชาโดยเฉพาะพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และสามารถสนับสนุนการเชื่อมโยงเส้นทางในประเทศระหว่างเมืองพนมเปญ-เสียมราฐ-บันเตียเมียนเจย ผ่านทางหลวงหมายเลข 6 ของกัมพูชา และเส้นทางระหว่างประเทศที่สำคัญ เชื่อมโยงกับไทย และเวียดนามตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) และทางหลวงอาเซียนสาย AH1 ผ่านทางหลวงหมายเลข 5 (NR5) ส่งเสริมให้มีเดินทางและติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประเพณี สนับสนุนการขยายตัวด้านการค้าชายแดน การขนส่งสินค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน ทั้งนี้ การพัฒนาเส้นทางดังกล่าวคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) โดยเฉพาะการพัฒนาด้านสังคมและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นการดำเนินโครงการตามแนวเส้นทางเดิมโดยยกระดับผิวจราจรทางหลวง 2 หลักเป็นแบบ Alphatic Concrete (AC) ตลอดเส้นทางตามแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางถนนของกัมพูชา
โครงการดังกล่าวคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาร่วมกันผลักดันการยกระดับและปรับปรุงถนน NR67 ในวงเงิน 983 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 โดยกำหนดเงื่อนไขให้มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ภายใต้โครงการจากไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา รวมถึงให้ผู้รับเหมา ก่อสร้างและวิศวกรที่ปรึกษาจากไทยเป็นหลักในการดำเนินโครงการ ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน